สรุปเนื้อหาเสริมความรู้ “ทัศนศิลป์ไทย”

ทัศนศิลป์ไทย เป็นงานศิลปกรรมแขนงที่ต้องใช้ตาดูเพื่อรับรู้ลักษณะ อารมณ์ สาระ และสุนทรียภาพของผลงาน ซึ่งโดยรวมเป็นศิลปะประเภทสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม

สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรม เป็นทัศนศิลป์เกี่ยวกับการก่อสร้างเพื่อการอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย สถาปัตยกรรมยังมีผลต่อจิตใจ ให้ความอบอุ่น ปลอดภัย มั่นคง ความปีติเบิกบาน ความศรัทธา หรือความประหลาดใจ ความสงสัย จึงกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น มีอิทธิพลหรือผลกระทบต่อมนุษย์เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

สถาปัตยกรรมประเภทเรือนไทยเดิม

เรือนไทยเดิมแบบประเพณีจำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ เรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับ

๑. เรือนเครื่องผูก คือ โรงเรือนที่ประกอบวัสดุก่อสร้างเข้าด้วยวิธีผูกเป็นหลัก แต่เดิมวัสดุที่ใช้ผูก นิยมใช้หวาย ส่วนวัสดุที่ใช้ปลูกเรือนมีทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ใบไม้และหญ้าแฝก ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดหา มักจะปลูกเป็นบ้านเรือนชั่วคราว เช่น เรือนเฝ้านา (เถียงนา ขนำ กระต๊อบ) กระท่อมในไร่ในสวน เป็นต้น

๒. เรือนเครื่องสับ เป็นเรือนไม้จริงที่นำมาสับ โกรก เลื่อย และสร้างด้วยกรรมวิธีบากเจาะสวมเดือย ฝาและพื้นปูด้วยไม้กระดาน ยกพื้นสูง ใต้ถุนเรือนเป็นที่พักผ่อน ทำงาน เก็บของเก็บเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือใช้เป็นคอกเลี้ยงสัตว์

เรือนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ

เรือนไทยในแต่ละภูมิภาคมีแบบแผนนิยมเฉพาะตัว มีรูปแบบแบ่งเป็น เรือนกาแล เรือนทรงไทย เรือนภาคใต้ และเรือนภาคอีสาน

๑. เรือนกาแล เป็นเรือนแบบแผนของล้านนา ปรากฏอยู่ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งเรียกว่า เรือนเชียงแสน

เรือนกาแลเป็นเรือนหลังคาจั่ว ปลายปั้นลม ด้านบนติดไม้กาแลเป็นง่ามไม้คดโค้ง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอปลายตัดหรือแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) ฝาเรือนด้านข้างเอียงผายออกแบบสมมาตร มีหน้าต่างขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เจาะเฉพาะฝาห้องนอนเพียงห้องละ ๑-๔ บาน

๒. เรือนทรงไทย เป็นเรือนแบบประเพณีของภาคกลาง มีลักษณะเป็นเรือนทรงล้มสอบ หลังคาจั่ว   ฝาเรือนเป็นแบบเฉพาะคือฝาประกน มีหน้าต่างทุกช่องเสา หน้าต่างขนาดสูงและกว้างกว่าเรือนในภาคอื่นๆ และยังนิยมตกแต่งส่วนประกอบของหน้าต่าง ทั้งกรอบเช็ดหน้า อกเลา และหย่อง

๓. เรือนภาคอีสาน แบ่งเป็นเรือนไทยโคราช ซึ่งคล้ายกับเรือนทรงไทยภาคกลาง และเรือนอีสาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรือนลาว (ไท-ลาว) มีลักษณะเด่นชัด ๓ ลักษณะ คือ ๑) เรือนเกย ๒) เรือนแฝด และ ๓) เรือนโข่ง

๔. เรือนภาคใต้ เรือนภาคใต้มีลักษณะแบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ เรือนของกลุ่มไทยพุทธ และเรือนของกลุ่มมุสลิมในจังหวัดชายแดน

๑) เรือนของกลุ่มไทยพุทธ ปรากฏในบริเวณตอนกลางของภูมิภาคมีลักษณะคล้ายกับเรือนทรงไทย ทั้งรูปทรงและการวางผัง แต่ขนาดเรือนมักทำขนาดเล็กกว่าและเตี้ยกว่า เรือนของกลุ่มไทยพุทธไม่นิยมติดไม้ปั้นลม นิยมใช้ฝาสายบัวแบบช่องกรุไม้ฝากว้าง เรือนภาคใต้มักไม่ฝังเสาลงในดิน แต่ทำตอม่อรับเสา

๒) เรือนของกลุ่มไทยมุสลิม มีเรือน ๓ แบบ จำแนกตามลักษณะทรงหลังคา ๑) แบบแมและ (จั่ว) ๒) แบบลีมะ (ปั้นหยา) ๓) แบบบลานอ (มนิลา)

จิตรกรรม

จิตรกรรมเป็นทัศนศิลป์ที่ใช้การวาดเขียนบนพื้นผิววัสดุเป็นลายเส้น โดยใช้อุปกรณ์การเขียน ได้แก่ ดินสอ ปากกา พู่กัน แปรง รวมทั้งนิ้วมือและมือ มีการระบายสีต่างๆ มีความสวยงาม และบอกเล่าเรื่องราวให้อารมณ์ความรู้สึกที่ประทับใจ

จิตรกรรมแบ่งประเภทโดยมีหลักเกณฑ์หลายประการ ได้แก่

– ประเภทจิตรกรรมตามวัสดุที่นำมาเขียน เช่น เขียนในสมุดกระดาษ ผืนผ้า แผ่นหิน แผ่นโลหะ

– ประเภทจิตรกรรมตามสีที่ใช้ระบาย เช่น จิตรกรรมสีน้ำ จิตรกรรมสีน้ำมัน จิตรกรรมสีอะคริลิก

– ประเภทจิตรกรรมตามลักษณะและยุคสมัย เช่น จิตรกรรมสมัยโบราณ และจิตรกรรมสมัยใหม่ หรือจิตรกรรมร่วมสมัย

ลักษณะจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

๑) จิตรกรรมลายเส้น ที่เน้นการใช้เส้นและลายเส้นเป็นสำคัญ เขียนบนกระดาษหรือสมุดไทย (ทำจากข่อย) และฝาผนังอาคารทั้งที่เป็นไม้และก่ออิฐถือปูน

๒) จิตรกรรมระบายสี มีสีเอกรงค์ระบายสี ๒-๓ สี ภาพรวมเป็นสีเดียวซึ่งรวมทั้งจิตรกรรมปิดทองรดน้ำและการปรุแผ่นวัสดุเป็นแบบแล้วปิดทอง บางภาพใช้สีหลายสี แบบพหุรงค์โดยปิดทองคำเปลวประดับตกแต่งบางส่วนเพื่อเน้นความสำคัญ

เรื่องราวในภาพจิตรกรรมไทยที่เด่นชัด คือ การเขียนเป็นภาพเรื่องราวของพระอดีตพุทธเจ้า เรื่องในพุทธประวัติ นิทานชาดก และเรื่องในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วง รามเกียรติ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบต่อมาในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์

ลักษณะจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย

จิตรกรรมแบบเสมือนจริงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยพระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎเมื่อครั้งยังครองสมณเพศประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดฯ ให้ขรัวอินโข่งเขียนภาพปริศนาธรรมบนผนังพระอุโบสถ ขรัวอินโข่งเป็นผู้สนใจแบบแผนการเขียนรูปของชาวตะวันตก และฝึกฝนวาดภาพตามแนวนั้นจนเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสมณเจ้าให้สร้างสรรค์จิตรกรรมไทยแนวตะวันตก

รัชกาลต่อมาอิทธิพลศิลปะตะวันตกเพิ่มมากขึ้นประกอบกับสภาพสังคมแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและเนื้อหาจิตรกรรมไทยจากจิตรกรรมแบบประเพณีมาเป็นจิตรกรรมแบบใหม่มากขึ้น อาทิ การเขียนภาพเหมือนบุคคลในปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชการชั้นสูง เป็นจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งทรงผนวชในวัดเบญจมบพิตร

แนวคิดและรูปแบบของจิตรกรรมแบบใหม่ คือ การพยายามสร้างภาพให้สมจริงตามธรรมชาติ ทั้งรูปทรง แสงเงา บรรยากาศ ระยะใกล้ไกล ต่างจากจิตรกรรมแบบประเพณีอย่างตรงกันข้าม

ประติมากรรม

ประติมากรรมเป็นศิลปกรรมแขนงหนึ่งในสาขาทัศนศิลป์ มีลักษณะ กรรมวิธี และการใช้สอยที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมในด้านต่างๆ

ลักษณะของประติมากรรม

ประติมากรรมมีรูปทรงที่มองเห็นได้ ๓ มิติ มีลวดลาย รูปทรงหรือรูปลักษณ์ที่เกิดจากการแกะสลัก การปั้น หรือวิธีอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ความงามแตกต่างกัน จำแนกประเภทตามเกณฑ์ด้านลักษณะกายภาพ กรรมวิธีและวัสดุที่ใช้ผลิตงาน ประติมากรรมจึงมีคุณค่าตามบทบาทหน้าที่แตกต่างกันตามลักษณะของประติมากรรมแต่ละประเภท อาจจำแนกตามลักษณะทางกายภาพเป็น

๑) ประติมากรรมรูปลอยตัว เป็นประติมากรรมซึ่งสามารถมองเห็นได้รอบตัวหรือมองได้ทุกด้าน เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ ที่ลานพระราชวังสวนดุสิต กรุงเทพฯ

๒) ประติมากรรมรูปนูน เป็นประติมากรรมที่มีพื้นหลังรองรับ มีความหนานูนมากน้อยต่างกัน ได้แก่ ประติมากรรมรูปนูนสูง และประติมากรรมนูนต่ำ เช่น เหรียญกษาปณ์เป็นประติมากรรมนูนต่ำ รูปประดิษฐานปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นประติมากรรมนูนสูง

๓) ประติมากรรมรูปเว้าหรือรูปร่องลึก เป็นประติมากรรมที่ทำให้ลึกเว้าหรือเป็นร่องเข้าไปโดยแกะสลัก ฉลุ หรือที่ใช้เหล็กตอกสกัดเอาเนื้อวัสดุบางส่วนออกไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือเป็นรูปตามต้องการเช่น รอยพระพุทธบาทจำลอง

ประติมากรรมตามยุคสมัย

๑) ประติมากรรมแรกเริ่ม เป็นประติมากรรมในยุคก่อนจะพัฒนาเป็นชาติต่างๆ มักเป็นประติมากรรมรูปเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเลียนแบบธรรมชาติ ใช้กรรมวิธีง่ายๆ ใช้เทคนิคและฝีมือง่ายๆ หยาบๆไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น รูปจำหลักไม้กันผีของชนเผ่า

๒) ประติมากรรมแบบประเพณี ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมเกี่ยวกับศาสนา อาทิ รูปเคารพ รูปตกแต่งอาคารศาสนาประติมากรรมแบบประเพณีของไทย เป็นประติมากรรมที่ตกทอดมาแต่โบราณ มีอายุเก่าแก่จนถึงยุคก่อนเกิดงานประติมากรรมสมัยใหม่ ได้แก่ ประติมากรรมที่รับอิทธิพลจากอินเดีย ศรีลังกา และสร้างตามอิทธิพลของศิลปะแบบมอญ เขมร มีชื่อเรียกประติมากรรมตามยุคสมัย เช่น ประติมากรรมทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง เชียงแสนหรือล้านนา อยุธยา รัตนโกสินทร์

๓) ประติมากรรมร่วมสมัย เป็นประติมากรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก สืบเนื่องมาจากการว่าจ้างนายซี เฟโรซี (C.Ferroci หรือ Corado Ferroci) ชาวอิตาลี หรือชื่อไทยคือ ศิลป์ พีระศรีได้รับราชการในกรมศิลปากรเป็นนายช่างประติมากรในรัชกาลที่ ๖ ท่านได้สอนชาวบ้านไทยให้ทำงานปั้นและหล่อตามแนวศิลปะยุโรป และสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้มีประติมากรทำงานแนวคลาสสิกตะวันตก ที่มีลักษณะแนวเลียนแบบธรรมชาติ แนวเหมือนจริง แนวไทยสมัยใหม่ แนวนามธรรม แนวสื่อความคิด แนวจัดวาง และแนวอื่น ๆ