สรุปเนื้อหาเสริมความรู้ “งานช่าง”

งานช่าง คือ สิ่งที่ช่างสร้างทำขึ้นสนองความต้องการต่างๆ ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ความพึงพอใจในความสวยงาม รวมทั้งที่เนื่องด้วยคติความเชื่อ พิธีกรรม และความศรัทธาในพระศาสนา

ประเภทของงานช่างไทย

๑. ของใช้ ได้แก่ สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ชนิดต่างๆ สำหรับเป็นเครื่องใช้ทำการงาน เป็นเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น มีด หม้อ งานจักสาน ฯลฯ ผลงานที่ทำขึ้นจะเรียกว่า งานหัตถกรรม แต่หากช่างสามารถสร้างสรรค์หัตถกรรมด้วยความชำนิชำนาญ สามารถพัฒนารูปแบบการประดิษฐ์ลวดลายให้มีความงามมีคุณค่าทางสุนทรียภาพ เช่น งานทอผ้า เครื่องเขิน งานแทงหยวก งานสลักกระดาษ ฯลฯ อาจเรียกว่า งานหัตถศิลป์ หรืองานศิลปหัตถกรรม

๒. ของชม ได้แก่ งานประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์โดนเน้นความสวย ความงาม ควรค่าแก่การเป็นของชมมากกว่าของใช้สอยธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาจเป็นของที่ทำขึ้นใช้ในโอกาสสำคัญ เทศกาลสำคัญ หรือใช้ในพิธีกรรมต่างๆ มักใช้วัสดุสำหรับการตกแต่งเพิ่มพูนความงามแก่เครื่องอุปโภค บริโภค เช่น งานเครื่องสด

บางชิ้นงานอาจเป็นงานที่สร้างสรรค์ด้วยความรู้สึก จินตนาการ และฝีมือช่างอย่างพร้อมมูล เช่น ภาพจิตรกรรม งานปั้น งานสลักไม้ ฯลฯ ผลงานของประเภทนี้จะเรีบกว่า งานวิจิตรศิลป์

ประเภทของงานช่างพื้นบ้าน

๑. เครื่องปั้นดินเผา (Ceramic) เป็นงานช่างที่ใช้ดินเป็นวัตถุสำคัญในการผลิต มีทั้งแบบเผาธรรมดาไม่เคลือบทำกันทั่วไปหลายท้องถิ่น เช่น ทำเป็นหม้อดินเผาแบบต่างๆ สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น เครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เครื่องปั้นดินเผาของชาวสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เรียกว่า หม้อสทิงพระ ฯลฯ

เครื่องปั้นดินเผามักเป็นงานช่างที่ทำสำหรับเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และเป็นส่วนประกอบประดับสิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามต่างๆ

๒. สิ่งทอ (Textile) เป็นงานช่างที่ใช้เส้นใยธรรมชาติจากสัตว์ และพืชมาทอผ้าเป็นผืนผ้าใช้ ทำเครื่องนุ่ง เครื่องห่ม และสิ่งของเครื่องบูชาตามคติความเชื่อและความศรัทธา เช่น การนำใยไหมใยฝ้ายมาทอเป็นผ้าชนิดต่างๆ ซึ่งแบ่งตามกรรมวิธีในการทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ บนผืนผ้า เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้าขิด    ผ้ายก แพรวา ผ้าลายน้ำไหล ผ้าหางกระรอก ฯลฯ

แหล่งทอผ้าสำคัญที่มีอยู่ในท้องที่ต่างๆ แต่โบราณมาจนปัจจุบัน เช่น ผ้าทออ่างศิลา ที่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันเลิกทำแล้ว) ผ้าทอเกาะยอ ของชาวตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ผ้าทอนาหมื่นสี ของชาวตำบลนาหมื่นสี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ผ้ายกเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ้าหางกระรอกปักธงไชย ของอำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ

๓. งานแกะสลัก (Carving) เป็นงานช่างแกะสลักวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในเเต่ละท้องถิ่น   ทำเป็นเครื่องใช้สอย เครื่องเล่น สิ่งของในคติความเชื่อ เช่น การแกะสลักไม้เครื่องเรือนและรูปต่างๆ เป็นของที่ระลึก ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การแกะสลักหินอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี การแกะสลักตัวหนังตะลุง จากหนังวัวหรือหนังควายของภาคใต้ การแกะสลักงาช้าง เป็นพระพุทธรูปและเครื่องประดับต่างๆ ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ

๔. เครื่องโลหะ (Metal work) เป็นงานช่างที่ใช้โลหะประเภทต่างๆ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ซึ่งต้องใช้ความรู้ความชำนาญและฝีมือสูงเพราะต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีหลายระดับ จึงจะได้ผลงานที่ใช้ประโยชน์ตามความต้องการ เช่น การตีมีดของชาวบ้านไผ่หนอง บ้านต้นโพธิ์ ซึ่งนำมาจำหน่ายที่บ้านอรัญญิก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การหล่อพระพุทธรูป การทำเครื่องทองเหลืองที่บ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี การทำเครื่องถมนคร การทำเครื่องทอง สำหรับปิดประดับพระพุทธรูป ตู้พระธรรม บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถ เป็นต้น

๕. เครื่องจักสาน (Basketry mats) เป็นงานช่างพื้นบ้านที่ทำด้วยวิธีการจักสานโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เช่น หวาย ไม้ไผ่ กก กระจูด ย่านลิเภา ใบลาน ใบเตย จาก แฝก ก้าน และใบมะพร้าว ฯลฯ เช่น กระจาด กระทาย กระบุง ตะกร้า สมุก

แหล่งทำเครื่องจักสานมีอยู่ทั่วไปหลายท้องที่บางแห่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นพิเศษเช่น เสื่อกกจากจันทบุรี ปลาตะเพียนใบลานอยุธยา เสื่อหวายบ้านเกาะหงส์ จังหวัดนครสวรรค์ เครื่องจักสานพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ฯลฯ

๖. สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน (Architectures) เป็นงานช่างก่อสร้างเหย้าเรือนที่อยู่อาศัยและที่พักพิงชั่วคราว สร้างด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีรูปทรงเรียบง่าย กลมกลืน เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมในแต่ละภูมิภาค เช่น เรือนกาแลในภาคเหนือ เรือนเสาลอยในภาคใต้ เรือนไทยภาคกลาง เรือนในภาคอีสาน

งานก่อสร้างพื้นบ้านอีกประเภทหนึ่ง คือ อาคารในศาสนาเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ เป็นที่ประกอบงานบุญประเพณีในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลต่างๆ ของชาวบ้าน สถาปัตยกรรมประเภทนี้มักสร้างด้วยฝีมือช่างที่สวยงามประณีต เป็นพิเศษกว่าเหย้าเรือนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นศูนย์รวมจิตใจความสามัคคีของผู้คนในท้องถิ่น เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร กุฎิเสนาสนะ ฯลฯ

๗. ภาพเขียน (Painting and Drawing) เป็นภาพลายเส้น ภาพเขียนสี ซึ่งส่วนใหญ่มักเขียนภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตกแต่งฝาผนังโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ธรรมาสน์ ฯลฯ เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นคติสอนใจชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังมีภาพเขียน ตกแต่งเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อความสวยงาม เช่น ตกแต่งเรือ รถม้า เกวียนระแทะ ภาพเขียนงานช่างพื้นบ้าน เหล่านี้เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์ด้วยความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่เรียบง่าย เข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน สะท้อนลักษณะของความเป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นไว้อย่างชัด

๘. งานประติมากรรม (Sculpture and Decorating Motive) เป็นงานช่างพื้นบ้านที่ทำด้วยการปั้น หล่อ และแกะสลัก มีจุดประสงค์เช่นเดียวกับการเขียนภาพ คือ เพื่อพระศาสนาและคติความเชื่อเป็นสำคัญ เช่น ปั้น หล่อ แกะสลักพระพุทธรูป ปั้นปูนประดับซุ้มประตู หน้าต่างโบสถ์วิหาร

๙. งานเครื่องกระดาษ (Pager mache) งานช่างทำเครื่องกระดาษแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ การนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นข่อย ต้นสา มาทำเป็นกระดาษข่อย กระดาษสาสำหรับนำไปใช้งานลักษณะต่างๆ ประเภทที่สอง คือการนำเครื่องกระดาษตกแต่งตามเทศกาลในงานบุญประเพณี งานเทศกาล เช่น ตัดเป็นริ้วรูปพวงมาลัย พวงมโหตร ที่ทำเป็นเครื่องเล่นก็มี เช่น ว่าว หน้ากาก เป็นต้น

๑๐. ประเภทเบ็ดเตล็ด เป็นงานช่างต่างๆ ที่ไม่อาจจัดเข้าในประเภทใดได้อย่างชัดเจน เช่น การแทงหยวก การแกะสลักผลไม้ การทำเครื่องดนตรี รวมทั้งการทำยวดยานพาหนะเรือ เกวียน ล้อเลื่อน ระแทะ ซึ่งใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และตามโอกาสรวมทั้งเป็นสิ่งบันเทิงเริงรมย์เล่นเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการงาน หรือเล่นเป็นการละเล่นพื้นบ้านในงานเทศกาลต่างๆได้แก่ เครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทต่างๆ แคน โปงลางของชาวอีสาน พิณเปี๊ยะ กลองแอวของชาวเหนือ กาหลอของชาวใต้ กลองยาว พิณพาทย์ของชาวภาคกลาง เป็นต้น